จุดหมายของการวิ่งกระโดดสูงหรือการกระโดดสูง คือ การที่ผู้กระโดดวิ่งมาแล้วสามารถกระโดดขึ้นและลอยตัวข้ามไม้พาดที่อยู่สูงไปได้
โดยใช้ท่าที่เหมาะสมกับรูปร่าง ความถนัด และเป็นท่าที่ตนเองกระโดดได้สูงที่สุด ท่าทางที่ใช้ในการกระโดดสูงนี้มีหลายแบบซึ่งได้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ โดยการคิดค้นหาเทคนิคและท่าทางการกระโดดขึ้นมา เพื่อให้ผู้กระโดดทำสถิติการกระโดดสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการเริ่มฝึกของนักเรียน ควรฝึกจากท่าง่าย ๆ ไปก่อน เพื่อให้รู้จักจังหวะการกระโดด รู้จักการสปริงตัวขึ้น รู้จักการลอยตัวในอากาศและการลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย
1.) เทคนิคในการวิ่งกระโดดสูง มีดังนี้
1.1) การวิ่งกระโดดสูงแบบกรรไกรทางเฉียง การวิ่งกระโดดสูงแบบกรรไกรทางเฉียง มีขั้นตอนและเทคนิคต่าง ๆ ดังนี้
1.1.1 การวิ่งก่อนการกระโดด ท่าตั้งต้นก่อนการวิ่งกระโดดสูง เพียงแต่ยืนตรงเตรียมพร้อมที่จุดเริ่มต้น หันหน้าไปยังทิศทางที่จะวิ่งไป เป็นมุมกับไม้พาดประมาณ 45 องศา ก่อนการวิ่งควรกำหนดที่หมายด้วยการหาระยะก้าวก่อนกระโดด เพื่อให้การจรดเท้าและการกระโดดขึ้นให้ได้ความสูงเหนือไม้พาดพอดี สมมุติว่าวิ่งเข้ากระโดดจำนวนก้าว 8 ก้าว ให้เท้าขวาเตะนำขึ้น จึงควรทำที่หมายไว้ตามทางที่วิ่ง 3 แห่ง แล้วออกวิ่งตามาจำนวนก้าวและความเร็ว ดังนี้
จากที่หมายที่1 ถึงที่หมายที่ 2 ควรวิ่งก้าวสั้น ๆ ด้วยปลายเท้าลักษณะโหย่ง ๆ ตัว ความเร็วประมาณครึ่งหนึ่ง ของความเร็วสูงสุด จำนวน 4 ก้าว จากที่หมายที่ 2 ถึงที่หมายที่ 3 วิ่งด้วยปลายเท้าก้าวยาว ๆ ความเร็วประมาณ 3 ใน 4 ของความเร็วสูงสุดจำนวน 4 ก้าว ที่หมายที่ 3 นี้จะอยู่ห่างจากไม้พาดประมาณ 1 ช่วงแขนของผู้กระโดด
1.1.2 การกระโดดขึ้นจากพื้น เมื่อเท้าซ้ายวิ่งมาเหยียบที่หมายที่ ซึ่งเป็นจุดที่จะกระโดดขึ้นให้จรดด้วยส้นเท้าก่อนแล้วจึงผ่อนน้ำหนักตัวไปทางปลายเท้า เอนตัวมาข้างหลังทำมุมกับพื้นประมาณ 45 องศา เข่างอเล็กน้อย ตามองเหนือไม้พาด ก้าวสุดท้ายจะกระโดดขึ้นจะก้าวไม่ยาวเกินไป แต่ต้องก้าวเท้าเร็ว ทันทีที่ส้นเท้าซ้ายจรดพื้นเท้าขวาจะเตะนำขึ้นไปข้างหน้า พร้อมกับเหวี่ยงแขนทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ และถ่ายน้ำหนักตัวไปสู่ปลายเท้าซ้ายถีบพื้นกระโดดขึ้นทันที
1.1.3 การลอยตัวในอากาศ ขณะที่ลอยตัวขึ้นขาขวาจะเหยียบนำข้ามไม้พาดไปก่อน ลำตัวจะเอนไปข้างหลัง และแอ่นสะโพกขึ้นจนตัวนอนหงายขนานกับไม้พาด ไม่เงยหน้า แต่ก้มหน้าเก็บคางในช่วงเวลาติดต่อกันนี้ เท้าซ้ายจะเตะข้ามไม้พาดตามเท้าขวาไปตามลำดับ ขณะตัวอยู่เหนือไม้พาด จะมีลักษณะคล้ายนอนหงายหันหลังให้ไม้พาด โดยไม่เกร็งส่วนใดของร่างกาย
1.1.4 การลงสู่พื้น เมื่อทุกส่วนของร่างกายผ่านพ้นไม้พาดไปแล้ว ให้กดเท้าที่เป็นเท้านำสู่พื้นโดยเร็ว แล้วกดเท้าตามสู่พื้นในท่ายืนย่อตัวลง ถ้ามีเบาะรองรับอาจจะปล่อยให้ตัวลงสู่พื้นในลักษณะนอนหงายก็ได้
1.2) การวิ่งกระโดดสูงแบบฟอสบูรี ฟลอบ การวิ่งกระโดดสูง แบบฟอสบูรี ฟลอบเป็นท่าที่ใช้ในการแข่งขันมากที่สุดในปัจจุบันที่มีขั้นตอน ดังนี้
1.2.1 การวิ่งก่อนกระโดด การวิ่งก่อนกระโดดจะมีทางวิ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นทางตรงกับส่วนที่เป็นทางโค้ง ให้วิ่งส่วนที่เป็นทางตรง 3 – 6 ก้าว และวิ่งส่วนที่เป็นทางโค้งอีก 4-5 ก้าว การวิ่งในทางตรง ลำตัวต้องยืดตรง แล้วเพิ่มความเร็วของการวิ่งด้วยการก้าวท้าวอย่างมีพลัง เอนตัวเข้าในโค้งระหว่างวิ่งทางโค้ง หัวไหล่ทางด้านในโค้งทางด้านในโค้งจะต่ำกว่าหัวไหล่ทางด้านนอกโค้ง แล้ววิ่งเร่งความเร็วอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งแรงขับไปที่ก้าวสุดท้ายของการวิ่ง
1.2.2 การกระโดด ขณะที่วิ่งก่อนกระโดด ช่วงก้าวสุดท้ายให้สั้นกว่าปกติเล็กน้อยแล้วตบเท้ากระโดดอย่างรวดเร็วผสานกับ ความเร็วที่เร่งมา ปลายเท้าชี้ตรงไปยังจุดลงพื้น เท้าจะไม่ขนานกับไม้พาด แล้วเหวี่ยงขาอิสระท่อนบนให้สูงขนานกับพื้น อย่างรวดเร็ว และคงท่าทางนั้นไว้ (1)พร้อมกับเหวี่ยงแขนทั้งสองขึ้นให้กำปั้นสูงในระดับศีรษะ และคงท่าทางนั้นไว้ (2) ข้อต่อ ข้อเท้า เข่าและสะโพกเหยียดสุดตัว
1.2.3 การลอยตัวข้ามไม้พาด เมื่อกระโดดขึ้นคงท่าทางของขาอิสระท่อนบนที่เหวี่ยงสูงขนานกับพื้น ขาข้างที่กระโดดเหยียบสุดตัว เหวี่ยงแขนซ้าย ซึ่งเป็นแขนข้ามไม้พาดไปก่อน แล้วแตะสะโพกขึ้นระหว่างช่วงที่สะโพกผ่านไม้พาด เมื่อสะโพกผ่านไม้พาดไปแล้ว ให้เก็บคางชิดหน้าอก และเหยียดขาทั้งสอง
1.2.4 การลงสู่พื้น หลังจากผ่านข้ามไม้พาดแล้วลงเบาะด้วยแผ่นหลังทั้งหมด ประคองด้วยแขนทั้งสองข้าง ให้แยกเข่าออกจากกันเพื่อป้องกันขากระแทกใบหน้า
กติกาในการแข่งขันเบื้องต้น
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องกระโดดด้วยเท้าข้างเดียว ซึ่งในกรณีที่ทำผิดกติกา มีดังนี้
หลังจากกระโดดแล้ว ไม้พาดหล่นอันเกิดจากการกระทำของผู้กระโดด ไม่ได้กระโดดแต่ปล่อยให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายถูกพื้นรวมทั้งเบาะรองรับระหว่างเสากระโดดสูงทั้งสอง หรือภายนอกเสาที่อยู่หลังขอบหน้าของเสา อย่างไรก็ตามเมื่อนักกรีฑากระโดดขึ้นไปแล้วเท้าไปถูกเบาะ ถ้าผู้ตัดสินเห็นว่าไม่มีการได้เปรียบให้ถือว่าการกระโดดครั้งนั้นมีผลสมบูรณ์
No comments:
Post a Comment